การร่วมลงทุน
การร่วมลงทุนเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุนที่มุ่งเน้นให้เงินลงทุนแก่บริษัทสร้างใหม่ (Startup) หรือ ธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงและต้องการขยายธุรกิจแต่ไม่สามารถเข้าถึงตลาดหุ้นได้ ผู้ประกอบการจะขายหุ้นให้กับผู้ร่วมลงทุนเพื่อแลกกับการจัดหาเงินทุน การสนับสนุนทางเทคนิค และความเชี่ยวชาญด้านการจัดการ ซึ่งผู้ร่วมทุนส่วนใหญ่มักจะมีส่วนสำคัญในการร่วมบริหารจัดการและช่วยผู้ประกอบการในการตัดสินใจเพื่อผลักดันการเติบโต เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีจุดแข็งเพียงทักษะความเชี่ยวชาญในกิจการของตัวเอง แต่อาจขาดทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนาบริษัทที่กำลังเติบโตนับเป็นจุดอ่อนที่ต้องการทักษะการบริหารและวางแผนจากผู้ร่วมลงทุนที่นอกเหนือจากความต้องการแค่เงินลงทุน
ใครคือผู้ร่วมทุน?
ผู้ร่วมทุนมักจะเป็นนักลงทุนมืออาชีพ อาจจะเป็นได้ทั้งบุคคลผู้มั่งคั่ง บริษัทประกัน มูลนิธิ และกองทุนบำเหน็จบำนาญของบริษัท หรืออาจรวมเงินเข้าด้วยกันร่วมเป็นหุ้นส่วนของกองทุนหรือบริษัทร่วมทุนที่มีคณะกรรมการที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจลงทุนและมองหาบริษัทที่มีทีมผู้บริหารที่แข็งแกร่ง ตลาดที่มีศักยภาพขนาดใหญ่ และผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่เหมือนใครซึ่งมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่แข็งแกร่ง รวมทั้งยังมองหาโอกาสในกิจการที่มีความคุ้นเคยและโอกาสที่มีหุ้นส่วนจากเม็ดเงินลงทุนที่เป็นจุดแข็งของการลงทุนในสัดส่วนที่มากพอจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของบริษัท ซึ่งในทางกลับกันอาจจะเป็นจุดอ่อนให้กับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถมีความเป็นเจ้าของกิจการได้ทั้งหมดรวมทั้งไม่สามารถบริหารกิจการได้อย่างอิสระอาจสูญเสียการควบคุมการสร้างสรรค์ผลงานหรือธุรกิจในอนาคต
ความสำคัญของผู้ร่วมทุน
ความเป็นมืออาชีพของผู้ร่วมทุนมักจะมีจุดแข็งความเป็นหุ้นส่วนที่ดีในการช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญกองทุนต่างๆ หรือแม้กระทั่งโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหญ่ๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการต่อยอดธุรกิจจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ผู้ร่วมทุนรายใหญ่ เป็นต้น รวมทั้งใช้เครือข่ายพันธมิตรมืออาชีพเป็นจุดแข็งในการให้คำแนะนำและช่วยเหลือธุรกิจ
สำคัญไหมที่ผู้ร่วมทุนจะต้องเป็นนักวิเคราะห์และมีบทบาทในธุรกิจ
ผู้ประกอบการในธุรกิจสร้างใหม่ (Startup) หรือ ธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ที่กำลังมองหาเงินร่วมลงทุนและหาผู้ร่วมทุน ที่มักรู้จักหรือพบกันได้หลายช่องทางได้แก่ สื่อโซเชี่ยลออนไลน์ งานกิจกรรมเชิงธุรกิจ (Business Event) ที่นัดพบทั้งผู้ประกอบการและผู้ลงทุน เป็นต้น โดยผู้ประกอบการจะต้องทำแผนธุรกิจเสนอไปยังผู้ร่วมทุนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทร่วมทุนหรือนักลงทุนรายย่อย หลังจากนั้นว่าที่ผู้ร่วมทุนจะต้องทำการตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจของบริษัท ผลิตภัณฑ์ การจัดการ และประวัติการดำเนินงาน ซึ่งผู้ร่วมทุนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการร่วมทุนมักจะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเฉพาะตามความถนัด ตัวอย่างเช่นผู้ร่วมทุนที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพอาจเคยมีประสบการณ์มาก่อนในฐานะนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพ หลังจากตรวจสอบเรียบร้อยนักลงทุนจะนำเงินลงทุนเพื่อแลกกับสัดส่วนของผู้ถือหุ้นในบริษัทและเข้าไปมีบทบาทในบริษัทหรือกิจการที่ได้ร่วมลงทุน แตกต่างกันไปประมาณ 3 รูปแบบ ได้แก่
- ผู้ร่วมทุนที่มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการ์ด้านการให้คำปรึกษาทางธุรกิจมักจะเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ร่วมงานในบริษัท ผลักดันให้เกิดการทำงานเชิงวิเคราะห์มากขึ้น ทั้งการวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจและวิเคราะห์แนวโน้มของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการหรือธุรกิจที่ร่วมทุน
- ผู้ร่วมทุนที่มีบทบาทด้านการบริหารจัดการในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการบริษัท โดยร่วมดูแลให้ผู้ประกอบการดำเนินงานได้อย่างราบรื่น และร่วมแสวงหาโอกาสการลงทุนรวมทั้งร่วมพิจารณาเงื่อนไขผลประโยชน์ต่างๆ
- ผู้ร่วมทุนที่มีบทบาทในฐานะคณะกรรมการบริษัทที่มุ่งเน้นเพียงการพิจารณาอนุมัติข้อตกลงหรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการลงทุนและผลประโยชน์เท่านั้น