นักลงทุนคือใคร
นักลงทุนสามารถเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือเรียกว่ารายย่อยที่สามารถซื้อและขายหุ้นหรือร่วมลงทุนลงเงินเพื่อหวังเพิ่มพูนความมั่งคั่งทั้งผลกำไรและรายได้ นอกจากนี้นักลงทุนก็สามารถอยู่ในรูปแบบองค์กร สถาบัน หรือบริษัท เช่น บริษัทเอกชนหรือกองทุนรวมที่จัดหาเงินทุนหรือใช้เงินลงทุนให้กับบุคคลหรือนิติบุคคลนำไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจ เริ่มโครงการใหม่ หรือรักษาการสร้างรายได้ ภายใต้การบริหาร กำกับดูแลของบุคคลหรือองค์กรที่ได้ร่วมลงเงิน โดยหวังผลกำไรหรือผลตอบแทนที่มากกว่าที่ลงทุนไว้ในตอนแรก
ประเภทของนักลงทุน
การที่โลกเหวี่ยงสู่ยุควิถีใหม่ที่ความสะดวกรวดเร็วของเทคโนโลยีทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึง เรียนรู้ ต่อยอด แบ่งปัน ตลอดจนนำเสนอช่องทางในการลงทุนที่สามารถเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้อาชีพนักลงทุนในไทยเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างในสังคมของมนุษย์เงินเดือนมากขึ้นนำไปสู่แนวคิดทางเลือกใหม่และเริ่มวางแผนใช้เงินลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแม้จะต้องแลกกับความเสี่ยงก็ตาม เรามาลองทำความรู้จักประเภทของนักลงทุนที่มีทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่
- ธนาคาร (Bank) ในฐานะผู้ลงทุน
- นักลงทุนอิสระ (Angel Investor) ส่วนใหญ่จะสนับสนุนเงินลงทุนให้กับธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) หรือธุรกิจสร้างใหม่ (Startup)
- ลงทุนด้วยการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคล (Peer-to-Peer Lending) โดยตรงไม่ผ่านตัวกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงิน
- ผู้ร่วมทุน (Venture Capitalists) จะนำเงินเข้าไปร่วมลงทุนกับกิจการที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโต เน้นการลงทุนระยะยาว โดยมีการกำหนดระยะเวลาการร่วมลงทุนที่แน่นอนและมีเงื่อนไขการเข้าร่วมลงทุนตามนโยบายของผู้ร่วมทุนแต่ละราย เพื่อเป้าหมายในสัดส่วนการถือหุ้นในผลกำไรของบริษัท
- นักลงทุนบุคคลหรือนักลงทุนรายย่อย (Personal Investors) จะมีบทบาทคล้ายนักลงทุนแบบผู้ร่วมทุน แต่ต่างกันตรงที่นักลงทุนอิสระจะจัดหาเงินทุนให้กับบริษัทสร้างใหม่ (Startup) หรือ ธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) หรือผู้ประกอบการรายบุคคลเพื่อแลกกับหุ้นทุนในธุรกิจ นักลงทุนอิสระนี้มักเป็นผู้ที่มากประสบการณ์ทั้งการจัดการธุรกิจ การลงทุน รวมทั้งเป็นบุคคลที่เป็นแหล่งเงินทุนและมีเงินลงทุนสูง
นักลงทุนในไทย
กลุ่มของนักลงทุนในไทยสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่ม 4 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ได้แก่ธนาคาร บริษัทเงินทุน กองทุนต่างๆ เป็นต้น
- กลุ่มนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์หรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ที่นอกจากจะเป็นตัวกลางในการซื้อขายการลงทุนหรือหุ้นแล้วยังสามารถทำการซื้อขายสร้างผลกำไรให้กับตัวเองได้
- กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่แสวงหาผลกำไรหรือผลตอบแทนให้ตัวเองสูงสุด พร้อมที่จะแสวงหาโอกาสในการเข้าลงทุนและในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะย้ายขนเงินออกในช่วงจังหวะที่ได้ผลตอบแทนสูงหรือมีแหล่งอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า
- กลุ่มนักลงทุนทั่วไปในประเทศ เป็นกลุ่มที่รวมนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายเล็ก นักลงทุนรายใหญ่ นักลงทุนอาชีพ หรือนักลงทุนมือสมัครเล่น
นักลงทุนส่วนใหญ่จะลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ หุ้นหรือตราสารทุน อสังหาริมทรัพย์ กิจการที่มีศักยภาพ หรือการลงทุนทางเลือก เช่น กองทุน สกุลเงินดิจิตอล เป็นต้น ซึ่งหากลงทุนด้วยการให้เงินกู้แก่บริษัทก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยและจำนวนเงินลงทุนคืนเมื่อถึงกำหนดตามสัญญา หรือการลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทก็จะมีส่วนในความเป็นเจ้าของและได้รับผลตอบแทนหรือส่วนแบ่งตามสัดส่วนของจำนวนเงินลงทุนหรือหุ้นและตามสัดส่วนผลกำไรของธุรกิจ
การลงทุนทุกการเข้าร่วมอาจสร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าและได้รับผลตอบแทนมากขึ้น หรือในทางกลับกันก็อาจเกิดความเสี่ยงจากการขาดทุนได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้การลงทุนส่วนใหญ่มักจะมีข้อผูกมัดระยะยาว ซึ่งผลตอบแทนจากการนำเงินลงทุนอาจใช้เวลาในการสร้างผลตอบแทนหลายปี โดยทั่วไปแล้วการลงทุนที่ดีที่จะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบสถานะและการวิเคราะห์ที่เหมาะสมเพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงและผลจากการลงทุนที่อาจเกิดขึ้น
แล้วนักลงทุนประเภทไหน จะทำให้คุณเป็นสุดยอดนักลงทุนในไทย
ถ้าคุณในวัยใกล้เกษียณเมื่อสิ้นสุดอาชีพการทำงานกลายเป็นคนที่จะไม่มีรายได้ที่มั่นคงและต่อเนื่องมักจะเลือกการออมหรือการลงทุนที่ปลอดภัยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด หรือคุณที่อายุยังน้อยและเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ยังมีอาชีพสร้างรายได้ประจำมักจะยอมรับการสูญเสียเงินหรือการขาดทุนจึงมักกล้าที่จะเลือกลงทุนในการธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากกว่า
หากคุณเริ่มสนใจและอยากก้าวสู่สังเวียนอาชีพนักลงทุน ควรเริ่มเข้าสู่วงการนักลงทุนด้วยการเตรียมตัวหาข้อมูลเบื้องต้น เพื่อเป้าหมายผลตอบแทนที่ดีและลดความเสี่ยง เพื่อสู่เป้าหมายสุดยอดนักลงทุนในไทย
- ทำการบ้านในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจ ปูมประวัติ และสถานะทางการเงินขององค์กรหรือบริษัทที่จะเข้าร่วมลงทุน
- วางแผนเงินรายได้ โดยแบ่งเงินสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินฉุกเฉิน เงินออม และเงินสำหรับการลงทุน เพื่อให้เกิดสภาพคล่องของกระแสเงิน
- วางแผนการลงทุน ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน
- ศึกษาค่าธรรมเนียม และภาษีที่เกี่ยวข้อง
- สำรวจและประเมินระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือการวิเคราะห์เกี่ยวกับตลาดและธุรกิจสำหรับการลงทุน
เคล็ดลับการเป็นนักลงทุน
นักลงทุนควรวางแผนการลงทุนเริ่มจากการหาเคล็ดลับแนวทางการวิเคราะห์และคำนวณความแตกต่างของผลตอบแทนจากการลงทุนระหว่างมูลค่าในปัจจุบันกับมูลค่าการลงทุนตอนตั้งต้น เพื่อใช้ประกอบการประเมินและเปรียบเทียบสำหรับการตัดสินใจเลือกลงทุนในธุรกิจต่างๆ ลดความเสี่ยงจากการลงทุนธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยการกระจายการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลายหรือหลักทรัพย์ที่แตกต่างกัน หรือการจับคู่กับการลงทุนที่มีความมั่นคงแต่ให้ผลตอบแทนต่ำหรือเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินทุนน้อยที่สุด เป็นต้น